วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553

เกาะกูด เกาะสวรรค์


อำเภอเกาะกูด

          เกาะกูด เป็นเกาะสุดท้ายแห่งน่านน้ำตะวันออกไทย ปัจจุบันรวมกับเกาะเล็ก ๆ ข้างเคียงมีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดตราด

ประวัติ
          เกาะกูดเริ่มปรากฏหลักฐานตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อองเชียงสือ เจ้าเมืองญวนที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระองค์ หนีออกจากกรุงเทพมหานครมาลงเรือที่เกาะสีชัง จากนั้นแล่นเรือชักใบในอ่าวไทยมา 7 วันจึงถึงเกาะกูดที่ไม่มีคนอยู่เลย
ชนพื้นถิ่นดั้งเดิมของเกาะกูดส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่อพยพมาจากเมืองปัจจันตคีรีเขตร์ (เกาะกง) ที่ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2447 มีหมู่บ้านหลองมาดเป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่ที่สุด
เดิมเกาะกูดเป็นหมู่บ้านขึ้นกับตำบลเกาะหมาก อำเภอแหลมงอบ ต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นตำบลเกาะกูด ในปี พ.ศ. 2523 ตัวเกาะกูดมีระยะทางห่างจากอำเภอคลองใหญ่ประมาณ 40 กิโลเมตร ประชาชนชาวเกาะกูดมีความยากลำบากในการเดินทางไปติดต่อราชการ ประกอบกับเกาะกูดอยู่ใกล้ดินแดนประเทศกัมพูชาด้านเกาะกงมากกว่าฝั่งไทย ทางราชการจึงมีนโยบายเพื่อความมั่นคงและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยได้ยกฐานะเกาะกูดและเกาะข้างเคียงขึ้นเป็น กิ่งอำเภอเกาะกูด ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2533 โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ปีเดียวกัน[1] และต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาลงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ยกฐานะขึ้นเป็น อำเภอเกาะกูด โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน ปีเดียวกัน[2]


ลักษณะโดยทั่วไป
          เกาะกูดเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของประเทศไทย มีเนื้อที่ 105 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 65,625 ไร่ ความยาวของเกาะ 25 กิโลเมตร ความกว้าง 12 กิโลเมตร เกาะยังมีสภาพความเป็นธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ โดยมีภูเขาและที่ราบสันเขาซึ่งเป็นต้นกำเนิดลำธาร ทำให้เกาะกูดมีน้ำตกที่ขึ้นชื่อคือ น้ำตกคลองเจ้า ที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี ทางฝั่งตะวันตกของเกาะ นับตั้งแต่อ่าวยายกี๋ หาดคลองเจ้า หาดอ่าวพร้าว อ่าวง่ามโข่ หาดอ่าวเบ้า หาดคลองหิน อ่าวพร้าวจนสุดปลายแหลมเทียน ล้วนแต่เป็นหาดที่มีทรายสวยงามน้ำทะเลใส ประกอบกับธรรมชาติสงบเงียบ ร่มรื่นด้วยทิวมะพร้าวริมหาด นอกจากนี้บนเกาะกูดยังมีป่าชายเลนที่สมบูรณ์และแนวปะการังหลากชนิด รวมทั้งเกาะแรดและเกาะไม้ชี้ซึ่งอยู่ใกล้กับเกาะกูด
อำเภอเกาะกูดประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อยรวม 24 เกาะ โดยแบ่งเป็น 3 หมู่เกาะ
  1. หมู่เกาะกูด มี 3 เกาะ ได้แก่ เกาะกูด เกาะแรด และเกาะไม้ชี้
  2. หมู่เกาะหมาก มี 9 เกาะ ได้แก่ เกาะหมาก เกาะยะรั้งใน เกาะยะรั้งนอก เกาะผี เกาะขาม เกาะกระดาด เกาะนก เกาะนอก และเกาะใน
  3. หมู่เกาะรัง มี 12 เกาะ ได้แก่ เกาะรังใหญ่ เกาะรังเล็ก เกาะตุ๊น เกาะกระ เกาะเทียน เกาะทองหลาง เกาะมะปริง เกาะยักษ์ เกาะกำปั่น เกาะใหญ่ เกาะกลาง และเกาะเล็ก
ปัจจุบันชาวเกาะกูดยังดำรงชีพด้วยการประมงชายฝั่ง เกษตรกรรม ทั้งสวนยางพารา สวนมะพร้าว แซมสวนผลไม้อีกเล็กน้อย








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น